ประวัติ ของ มาร์ก-อ็องตวน ชาร์ป็องตีเย

ชาร์ป็องตีเยเกิดในกรุงปารีสหรือในพื้นที่ใกล้เคียง เขาเป็นบุตรของอาลักษณ์คนสำคัญผู้มีความสัมพันธ์อันดีกับครอบครัวผู้ทรงอิทธิพลในศาลอุทธรณ์แห่งปารีส[2][3] มาร์ก-อ็องตวนได้รับการศึกษาที่ดีมาก ซึ่งอาจอยู่ในความดูและของบาทหลวงคณะเยสุอิต และสมัครเข้าเรียนในโรงเรียนกฎหมายเมื่ออายุได้ 18 ปี[4] แต่เรียนได้เพียงภาคการศึกษาเดียวก็ลาออก เขาใช้เวลา “สองสามปี” ในกรุงโรม น่าจะระหว่าง ค.ศ. 1667 ถึง 1669[5] เป็นศิษย์ของจาโกโม การิสซีมี และเป็นที่ทราบกันว่าเขาได้ติดต่อกับกวี-นักดนตรีชื่อชาร์ล กัวโป ดาซูซี (Charles Coypeau d'Assoucy) ผู้กำลังประพันธ์ดนตรีให้แก่สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสในกรุงโรม มีคำเล่าลือว่าในเบื้องแรกชาร์ป็องตีเยเดินทางไปกรุงโรมเพื่อศึกษาจิตรกรรมก่อนได้พบกับการิสซีมี เรื่องนี้ไม่มีการจดบันทึก และน่าจะไม่เป็นความจริง เพราะในต้นฉบับโน้ตดนตรีที่เขียนด้วยลายมือของเขาทั้ง 28 เล่มนั้น แม้จะแสดงถึงความชำนาญในการวาดลายอาหรับซึ่งนิยมกันในหมู่อาลักษณ์อาชีพ ทว่าไม่มีเล่มใดเลยที่มีภาพวาด แม้เพียงภาพร่างอย่างง่ายก็ไม่มี แต่ไม่ว่าชาร์ป็องตีเยจะไปกรุงโรมเพื่อเรียนอะไร เขาก็ได้เรียนรู้ขนบดนตรีของอิตาลีในยุคนั้นอย่างลึกซึ้งและนำติดตัวกลับไปฝรั่งเศสด้วย

ทันทีที่ชาร์ป็องตีเยกลับถึงฝรั่งเศส เขาน่าจะได้เริ่มงานในฐานะคีตกวีประจำบ้านให้แก่มารี เดอ ลอแรน ดัชเชสแห่งกีซ (Marie de Lorraine, duchesse de Guise) ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่านางสาวแห่งกีซ ดัชเชสได้มอบห้องเป็นสัดส่วนในคฤหาสน์กีซ (Hôtel de Guise) ที่เพิ่งบูรณะเสร็จใหม่ ๆ ให้แก่ชาร์ป็องตีเย ความข้อนี้เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงว่าชาร์ป็องตีเยไม่ได้เป็นเพียงคนรับใช้ที่หลับนอนในซอกหลืบของทำเนียบอันยิ่งใหญ่ แต่เป็นชาววังผู้อาศัยในห้องชุดหรูที่ทำขึ้นใหม่ทางปีกคอกม้า[6]

ในห้วงเวลา 17 ปีนับจากนั้น ชาร์ป็องตีเยได้ประพันธ์ดนตรีสำหรับการขับร้องหลายชิ้นให้แก่ดัชเชสแห่งกีซ[7] เช่นดนตรีสำหรับเพลงสดุดี (Psalm) เพลงสวด (hymns) เพลงโมเทต (motet) ดนตรีประกอบบทภาวนาของพระนางมารีย์ (Magnificat) เพลงมิซซา (mass) และดนตรีสำหรับบทภาวนาวันแห่งพระพิโรธ (Dies Irae) สำหรับใช้ในงานศพ หลุยส์ โฌแซ็ฟ ดยุคแห่งกีซ (Louis Joseph, Duke of Guise) หลานของดัชเชส[8] ทั้งยังมีออราทอริโอในลีลาอิตาลีที่มีบทร้องภาษาละตินที่ไม่เกี่ยวกับศาสนาอีกหลายเรื่อง ในทศวรรษ ค.ศ. 1670 งานส่วนใหญ่ของชาร์ป็องตีเยประพันธ์ขึ้นสำหรับนักร้อง 3 คน[9] ซึ่งมักใช้สตรี 2 คน และเสียงเบสอีก 1 เสียง ขับร้องไปกับการบรรเลงที่ใช้เครื่องดนตรีเสียงกลาง 2 ชิ้น และเครื่องดนตรีเดินแนวเบสต่อเนื่องอีก 1 ชิ้น แต่หากการแสดงดนตรีเกิดขึ้นในโบสถ์ที่มีแต่ศาสนิกที่เป็นบุรุษ ดนตรีก็จะเปลี่ยนเป็นสำหรับเสียงสูงพิเศษ (haute-contre) เสียงเทเนอร์ และเสียงเบส โดยใช้เครื่องดนตรีชุดเดิม ครั้นถึงราว ค.ศ.1680 ดัชเชสแห่งกีซได้เพิ่มขนาดวงดุริยางค์ขึ้นหลายครั้ง จนในที่สุดวงของดัชเชสก็มีนักร้องนักดนตรีถึง 13 คน กับครูสอนขับร้องอีก 1 คน ในบทประพันธ์ดนตรีตั้งแต่ ค.ศ. 1684 จนถึงปลาย ค.ศ. 1687 ในขอบบนหน้าโน้ตเพลงของชาร์ป็องตีเยจะมีชื่อนักดนตรีในวงของดัชเชสแห่งกีซทุกคน รวมถึงชื่อ "ชาร์ป" ("Charp") ข้างตำแหน่งเสียงสูงพิเศษ[10] เอเตียน ลูลีเย (Étienne Loulié) นักดนตรีอาวุโสมือคีย์บอร์ด ขลุ่ยรีคอร์เดอร์ และซอวิโอล น่าจะรับหน้าที่ฝึกสอนนักดนตรีใหม่ด้วย

แม้จะมีข้อความที่มักกล่าวอ้างว่าชาร์ป็องตีเยเป็น “ผู้อำนวยการ” วงดุริยางค์ในช่วง 17 ปีที่เขาทำงานให้ดัชเชสแห่งกีซด้วย แต่ข้อความนี้ไม่เป็นความจริง ตำแหน่งดังกล่าวเป็นของชายอีกคนหนึ่งในทำเนียบของดัชเชสชื่อ ฟีลิป กัวโบ (Philippe Goibaut) ที่เรียกกันติดปากว่านายดูว์ บัว (Monsieur Du Bois) เขาเป็นนักดนตรีสมัครเล่น นิยมชมชอบทุกสิ่งที่มาจากอิตาลี และเป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาละติน ความชื่นชอบดนตรีอิตาลีของดัชเชสแห่งกีซ (เช่นเดียวกับดูว์ บัว) และงานรับรองบ่อยครั้งที่ดัชเชสจัดเป็นเกียรติแก่อาคันตุกะชาวอิตาลีผู้เดินทางผ่านมาทางกรุงปารีส[11] ทำให้ชาร์ป็องตีเยไม่จำเป็นต้องอำพรางสิ่งที่เขาได้เรียนรู้มาจากกรุงโรมและกลายความเป็นอิตาลีในดนตรีของเขา

ในระยะเวลาที่ชาร์ป็องตีเยทำงานให้แก่ดัชเชสหรือนางสาวแห่งกีซ เขาก็ได้ประพันธ์ดนตรีให้แก่มาดาม เดอ กีซ (Mme de Guise) พระญาติสนิทของสมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ด้วย[12] บารมีของมาดาม เดอ กีซนี่เองที่เป็นเกราะคุ้มภัยให้แก่วงดุริยางค์ของดัชเชส ทำให้วงสามารถจัดการแสดงอุปรากรเล็กของชาร์ป็องตีเยอยู่ได้อย่างท้าทายการผูกขาดของคีตกวีราชสำนัก ฌ็อง-บาติสต์ ลูว์ลี อุปรากรและเพลงปัสตอราลของชาร์ป็องตีเยที่แสดงเป็นภาษาฝรั่งเศสซึ่งประพันธ์ขึ้นในช่วง ค.ศ. 1684 ถึง 1687 ส่วนใหญ่น่าจะเป็นงานที่ว่าจ้างโดยมาดาม เดอ กีซ สำหรับจัดแสดงในพระราชวังในฤดูหนาว แต่ดัชเชสแห่งกีซต้องได้นำบทประพันธ์เหล่านี้ไปจัดแสดงในงานรื่นเริงที่จัดขึ้นสัปดาห์ละหลายครั้งที่ทำเนียบอันอลังการของนางในกรุงปารีสด้วยอย่างแน่นอน

ภาพเหมือนที่ค้นพบใหม่ มีลายมือจิตรกรที่บอกว่าเป็นภาพของชาร์ป็องตีเย แต่วาดขึ้นทีหลังในราว ค.ศ. 1750[13]

ถึงปลาย ค.ศ. 1687 สุขภาพของดัชเชสแห่งกีซทรุดโทรมลงมาก ในช่วงนั้นชาร์ป็องตีเยได้ย้ายไปทำงานในคณะเยสุอิต เขาไม่มีชื่อปรากฏในพินัยกรรมของดัชเชสเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1688 ทั้งไม่ปรากฏในเอกสารมรดกใด ๆ จึงเป็นหลักฐานอันหนักแน่นว่าดัชเชสได้สมนาคุณแก่คีตกวีผู้จงรักแล้ว และอนุญาตให้เขาออกไปหางานใหม่ได้

ตลอดเวลากว่า 17 ปีที่ชาร์ป็องตีเยทำงานที่คฤหาสกีซ เขามีงานดนตรีนอกเหนือจากที่ประพันธ์ให้กับดัชเชสแห่งเดอกีซอีกเป็นจำนวนเกือบเท่ากับงานในหน้าที่ ซึ่งเขาเก็บสำเนาไว้ในสมุดบันทึกของเขาอย่างสม่ำเสมอ โดยลงลำดับเป็นพิเศษด้วยเลขโรมัน ตัวอย่างหนึ่งคือหลังจากมอลีแยร์ นักประพันธ์บทละครผู้ยิ่งใหญ่ ตัดไมตรีกับฌ็อง-บาติสต์ ลูว์ลีเมื่อ ค.ศ. 1672 ชาร์ป็องตีเยก็เริ่มรับงานประพันธ์ดนตรีประกอบละครพูดของมอลีแยร์ ความจริงงานประพันธ์เพลงสำหรับละครเรื่อง Le Malade imaginaire ได้มอบหมายให้แก่ดาซูซี (Dassoucy) แต่แรงกดดันจากดัชเชสแห่งกีซและมาดาม เดอ กีซน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มอลีแยร์บอกเลิกความตกลงกับดาซูซีแล้วโอนงานมาให้ชาร์ป็องตีเยแทน และหลังจากมรณกรรมของมอลีแยร์ใน ค.ศ. 1673 ชาร์ป็องตีเยก็ยังประพันธ์ดนตรีให้กับผู้สืบทอดของมอลีแยร์ ได้แก่ตอมา กอร์แนย์ (Thomas Corneille) และฌ็อง ดนโน เดอ วีเซ (Jean Donneau de Visé) อย่างต่อเนื่อง ในละครแต่ละเรื่อง ชาร์ป็องตีเยได้ประพันธ์ดนตรีที่ต้องใช้นักดนตรีจำนวนมากกว่าที่กำหนดไว้ในคำสั่งผูกขาดดนตรีเพื่อการละครของลูว์ลี ครั้นถึง ค.ศ. 1685 คณะละครจำต้องหยุดการละเมิดคำสั่งดังกล่าว ทำให้งานประพันธ์ดนตรีประกอบละครพูดต้องสิ้นสุดลงโดยปริยายสำหรับชาร์ป็องตีเย[14]

ใน ค.ศ. 1679 ชาร์ป็องตีเยได้รับเลือกให้ประพันธ์ดนตรีถวายแด่พระราชบุตรของสมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ผู้ดำรงตำแหน่งรัชทายาท[15] งานประพันธ์ส่วนใหญ่เป็นเพลงศาสนาสำหรับโรงสวดส่วนพระองค์ คือเพลงสวดสำหรับวงขนาดเล็ก ผู้ขับร้องเป็นนักร้องของราชสำนัก ได้แก่สองพี่น้องสตรีสกุลเปียช ร่วมกับนักร้องเสียงเบสชื่อฟรีซง นักดนตีคือพี่น้องบุรุษสกุลเปียช เท่ากับว่าหากดัชเชสแห่งกีซอนุญาต วงของรัชทายาทก็สามารถบรรเลงเพลงที่ชาร์ป็องตีเยประพันธ์ในคฤหาสน์กีซได้ เมื่อต้น ค.ศ. 1683 ซึ่งชาร์ป็องตีเยเริ่มได้รับบำนาญหลวง เขาก็ได้รับมอบหมายให้ประพันธ์ดนตรีสำหรับโอกาสต่าง ๆ ในราชสำนัก เช่นการแห่ประจำปีในวันวันสมโภชพระคริสตวรกาย (Corpus Christi) แต่ถึงเดือนเมษายนของปีนั้น อาการป่วยของชาร์ป็องตีเยทำให้เขาต้องถอนตัวจากการสมัครเข้าชิงตำแหน่งรองผู้ดูแลโบสถ์หลวง ข้อสันนิษฐานที่ว่าเขาถอนตัวเพราะรู้อยู่แล้วว่าจะไม่ได้ตำแหน่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นไปไม่ได้ ดูจากสมุดบันทึกโน้ตเพลงของเขา ซึ่งไม่มีการเขียนข้อความใดเลยในช่วงเดือนเมษายนถึงสิงหาคมของปีนั้น นับเป็นหลักฐานหนักแน่นว่าเขาป่วยเกินกว่าจะทำงาน

จากปลาย ค.ศ. 1687 ถึงต้น ค.ศ. 1698 ชาร์ป็องตีเยทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการตนตรีให้แก่คณะเยสุอิต เริ่มจากที่วิทยาลัยหลุยส์-เลอ-กร็อง (Louis-le-Grand) (เขาประพันธ์ดนตรีเรื่องดาวีกับฌอนาตา (David et Jonathas))[16] และที่โบสถ์แซ็ง-หลุยส์ ริมถนนแซ็ง-อ็องตวนใกล้อาราม (professed house) ของคณะเยสุอิตในเวลาต่อมา[17] ครั้นย้ายไปโบสถ์แซ็ง-หลุยส์แล้ว ชาร์ป็องตีเยก็เลิกประพันธ์ออราทอริโอ หันไปมุ่งประพันธ์ดนตรีประกอบบทเพลงสดุดีและคำประพันธ์ทางศาสนาบทอื่น งานประพันธ์ของเขาที่โบสถ์แซ็ง-หลุยส์มักเป็นดนตรีสำหรับวงดุริยางค์ขนาดใหญ่ ใช้นักร้องที่ว่าจ้างมาจากคณะอุปรากรหลวง นอกจากนั้น ชาร์ป็องตีเยยังรับช่วงต่อจากเอเตียน ลูลีเย (Étienne Loulié) ในฐานะครูดนตรีของฟีลิป ดยุคแห่งชาทร์ด้วย[18]

ชาร์ป็องตีเยได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการตนตรีของโบสถ์แซ็งต์-ชาแปล กรุงปารีส เมื่อ ค.ศ. 1698 ซึ่งเป็นตำแหน่งในราชสำนัก เขาอยู่ในตำแหน่งนี้จนถึงแก่กรรมเมื่อ ค.ศ. 1704[19] บทประพันธ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดบทหนึ่งในช่วงนี้ได้แก่ Mass Assumpta Est Maria (H. 11) การที่บทประพันธ์ชิ้นนี้เหลือรอดอยู่ได้แปลว่าชาร์ป็องตีเยประพันธ์ดนตรีนี้ให้แก่อีกหน่วยงานหนึ่งซึ่งสามารถเรียกใช้และให้ค่าตอบแทนแก่นักดนตรีของโบสถ์ได้ เพราะในกรณีนอกเหนือจากบทประพันธ์นี้ ไม่มีงานของชาร์ป็องตีเยในช่วง ค.ศ. 1690 ถึง ค.ศ. 1704 ชิ้นใดที่หลงเหลืออยู่เลย เนื่องจากหลังมรณกรรมของผู้อำนวยการตนตรี เจ้าหน้าที่ราชสำนักจะยึดงานประพันธ์ทุกชิ้นที่ประพันธ์ขึ้นสำหรับโบสถ์ไปหมด ชาร์ป็องตีเยถึงแก่กรรมที่โบสถ์แซ็ง-ชาแปลในกรุงปารีส และถูกฝังในสุสานขนาดเล็กมีกำแพงปิดล้อมด้านหลังที่สำหรับนักร้องประสานเสียงของโบสถ์ แต่สุสานดังกล่าวไม่มีเหลือแล้วในปัจจุบัน

เมื่อ ค.ศ. 1727 ทายาทของชาร์ป็องตีเยขายต้นฉบับโน้ต 28 เล่มที่บันทึกด้วยลายมือของเขาให้แก่หอสมุดหลวง ซึ่งกลายมาเป็นหอสมุดแห่งชาติของประเทศฝรั่งเศส (Bibliothèque nationale de France) ในปัจจุบัน โน้ตเพลงชุดนี้รู้จักกันทั่วไปในชื่อเมล็องฌ์ (Mélanges หรือ Meslanges) มีสำเนาต้นฉบับที่ตีพิมพ์เผยแพร่โดย Minkoff-France ชาร์ป็องตีเยแบ่งต้นฉบับเหล่านี้ออกเป็น 2 ชุด ชุดหนึ่งใช้เลขลำดับเป็นเลขอารบิค อีกชุดหนึ่งใช้เลขโรมัน ทั้งสองชุดจัดลำดับตามวันเดือนปีที่ประพันธ์ ต้นฉบับของชาร์ป็องตีเยและลายน้ำบนกระดาษโน้ตเพลงไม่เพียงช่วยให้ผู้ศึกษาผลงานของเขาสามารถกำหนดวันที่ของงานดนตรีแต่ละชิ้น แต่ยังบอกได้ด้วยว่าบางชิ้นประพันธ์ขึ้นเพื่อใช้ในโอกาสใดบ้าง[20]

แหล่งที่มา

WikiPedia: มาร์ก-อ็องตวน ชาร์ป็องตีเย http://www.houndbite.com/?houndbite=2456 http://ranumspanat.com/charpentier_intro.html http://ranumspanat.com/html%20pages/birthdate.html http://ranumspanat.com/law_faculty_register.htm http://ranumspanat.com/mac_xli_intropg.htm http://ranumspanat.com/portrait_charpentier.htm http://www.personal.utulsa.edu/~john-powell/direct... http://www.charpentier.culture.fr http://www.mutopiaproject.org/cgibin/make-table.cg... https://books.google.com/books?id=Q8cq4vip7RIC